ระเบียบว่าด้วยสมาชิกภาพ

สมาชิกภาพ

สมาชิกสหกรณ์ คือ บุคคลที่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาแล้วปรากฎว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องเห็นสมควรให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้ และเป็นผู้ที่มีชื่อและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อ ทะเบียนสมาชิก และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วนแล้ว

คุณสมบัติของการเป็นสมาชิก

สมาชิกต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.เป็นผู้เห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

2.เป็นบุคคลธรรมดาและบรรลุนิติภาวะ

3.(ก) เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำสังกัด สำนักงาน ก.พ. หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์นี้ หรือ

    (ข) สมาชิกที่โอน หรือออกจากราชการหรืองานประจำโดยไม่มีความผิด และประสงค์จะเป็นสมาชิกต่อไป

4.เป็นผู้มีความประพฤติและนิสัยดีงาม

5. มิได้เป็นสมาชิกในสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน

การสมัครเป็นสมาชิก

1.ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามแบบที่กำหนดไว้ ณ ที่ทำการสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยต้องมีผู้บังคับบัญชาของผู้สมัครในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าแผนกรับรอง ถ้าผู้สมัครดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 4 ก็ไม่ต้องมีผู้รับรอง

2.ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10.- บาท แต่ถ้าลาออกจากสหกรณ์ไปแล้ว จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ได้เมื่อครบ 1 ปี

3.ส่งค่าหุ้นเป็นเงินออมอย่างน้อยตามอัตราส่วนเงินได้รายเดือนทุกเดือน โดยหักจากเงินเดือน ณ ที่จ่าย จะถือว่าเริ่มได้สิทธิการเป็นสมาชิกเมื่อได้หักค่าหุ้นงวดแรก

สิทธิหน้าที่ของสมาชิก

ผู้เข้าเป็นสมาชิกต้องลงลายมือชื่อของตนในทะเบียนสมาชิกกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้วจึงจะถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิก

สิทธิของสมาชิกมีดังนี้

1.เข้าร่วมประชุมใหญ่เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน

2.เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

3.เสนอหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์

4.ได้รับบริการทางธุรกิจ และทางวิชาการจากสหกรณ์

5.สิทธิอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์

       หน้าที่ของสมาชิกมีดังนี้

1.ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติและคำสั่งของสหกรณ์

2.เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่สหกรณ์นัดหมาย

3.ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง

4.สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์

5.ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง

6.สมาชิกคนใดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องชื่อ นามสกุล สัญชาติ และที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

บทบาทของการเป็นสมาชิก

โดยที่สหกรณ์เป็นฯของสมาชิก ฉะนั้นการที่สหกรณ์จะเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพ และสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับมวลสมาชิกได้อย่างดีนั้น สมาชิกต้องมีบทบาท 2 ประการ คือ

1.บทบาทในฐานะเป็นสมาชิก สหกรณ์เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเหมือนกับสถาบันการเงินรูปอื่นที่มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ เป็นแหล่งออมทรัพย์และเป็นแหล่งกู้ยืมเงิน

1.1 สมาชิกจะต้องมีการออมซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความมั่นคงในอนาคต ได้แก่การถือหุ้น และการฝากเงิน

 - การถือหุ้นเป็นการออมทรัพย์ระยะยาว เพราะสมาชิกจะถอนค่าหุ้นคืนได้เมื่อลาออกจากสหกรณ์เท่านั้น

- การฝากเงิน สหกรณ์มีบริการเงินฝากออมทรัพย์ และออมทรัพย์พิเศษซึ่งฝาก-ถอนได้ตลอด โดยไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย

1.2 สมาชิกเป็นผู้กู้เงิน การกู้ยืมเงินแม้ว่าสหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่น แต่สมาชิกควรจะได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและกู้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

2.บทบาทในฐานะเป็นเจ้าของสหกรณ์ สมาชิกสามารถกระทำได้หลายประการ แต่ ที่สำคัญมี 3 ประการ คือ

2.1 การเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อเป็นผู้แทนของสมาชิกในการดำเนินกิจการทั้งปวง ได้แก่ การดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของสหกรณ์ การกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ และเป้าหมาย รวมทั้งกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติต่างๆ สมาชิกจึงไม่ควรนอนหลับทับสิทธิ์ ควรสละเวลาไปเลือกตั้งกรรมการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในคุณธรรมไม่แสวงหาผลประโยชน์ในสหกรณ์และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

2.2 เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาชิกควรจะได้อ่านรายงานกิจการประจำปีล่วงหน้า เมื่อมีข้อสงสัยจะได้ซักถามและออกเสียงในบางเรื่อง

2.3 การเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ เนื่องจากสมาชิกไม่สามารถเข้าไปบริหารงานของสหกรณ์ได้ทุกคน จึงต้องเลือกผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งจะเป็นหูเป็นตาแทนสมาชิก เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านต่างๆของคณะกรรมการ ดำเนินการ ตลอดจนประเมินผลประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานนั้นๆ และแนะนำวิธีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกโดยส่วนรวม

การตั้งผู้รับโอนประโยชน์

สมาชิกจะต้องทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคน เพื่อให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์ในเมื่อตนตายนั้น มอบให้สหกรณ์ถือไว้ก็ได้ หนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังว่านี้ต้องทำตามลักษณะพินัยกรรม ถ้าสมาชิกประสงค์จะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้วก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้ เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และดอกเบี้ยบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่ผู้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว

การขาดจากสมาชิกภาพ

สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุใดๆ ดังต่อไปนี้

1.ตาย

2.ลาออก

3.เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

4.ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย

5.ถูกออกจากราชการหรืองานประจำ โดยมีความผิด

6.ถูกให้ออกจากสหกรณ์ เพราะเหตุอย่างหนึ่ง อย่างใดดังต่อไปนี้

6.1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า

6.2 ขาดชำระค่าหุ้นรายเดือนถึงสามงวดติดต่อกัน หรือขาดชำระรวมถึงหกงวด ทั้งนี้ โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดำเนินการ

6.3 นำเงินกู้ใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

6.4 ไม่จัดการแก้ไขหลักประกันสำหรับเงินกู้ที่เกิดบกพร่องให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

6.5 ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าเงินต้นหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ

6.6 ไม่ให้ข้อความจริงเกี่ยวกับหนี้สินของตนแก่สหกรณ์เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือเมื่อจะก่อความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกัน หรือเมื่อมีความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์อยู่แล้ว

6.7 จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ หรือของที่ประชุมกลุ่มที่ตนสังกัด หรือประพฤติการใดๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ หรือทำให้เสื่อมเสียต่อสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใดๆ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาปรากฎว่าสมาชิกมีเหตุใดๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ และได้ลงมติให้สมาชิกออกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการที่อยู่ในที่ประชุมแล้ว ก็เป็นอันว่าสมาชิกนั้นถูกให้ออกจากสมาชิกสหกรณ์

สมาชิกที่โอน หรือออกจากราชการหรืองานประจำโดยไม่มีความผิด

1.หากสมาชิกที่โอน หรือออกจากราชการ หรืองานประจำโดยไม่มีความผิด และประสงค์จะเป็นสมาชิกสหกรณ์ต่อไป ให้ยื่นเรื่องแจ้งความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกต่อไปกับสหกรณ์เป็นการล่วงหน้าหรือทันที ทั้งนี้ หากสถาบันที่โอน ย้าย มีสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วยสมาชิกจะต้องตัดสินใจเลือกเป็นสมาชิกสหกรณ์หนึ่งสหกรณ์ใดเพียงสหกรณ์เดียวเท่านั้น

2.หากสมาชิกที่โอน หรือออกจากราชการ หรืองานประจำโดยไม่มีความผิด และไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิกสหกรณ์ต่อไป ขอให้รีบยื่นเรื่องขอลาออกจากสหกรณ์ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดเป็นการล่วงหน้าหรือทันที ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกเอง โดยสมาชิกจะต้องดำเนินการตาม ข้อ 2.1 - 2.3 ดังนี้

2.1 สมาชิกต้องไม่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหากมีหนี้สินอยู่ต้องจัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน

2.2 กรณีที่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้อยู่ หากมีหุ้นมากกว่าหนี้เงินกู้ให้มารับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือคืนตามวันที่สหกรณ์นัดหมาย หากมีหนี้เงินกู้มากกว่าหุ้นให้มาทำการโอนหุ้นชำระหนี้ และชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามวันที่สหกรณ์นัดหมาย

2.3 กรณีที่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกันอยู่ ต้องทำการเปลี่ยนผู้ค้ำประกันให้เสร็จสิ้นเสียก่อน