ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้สามัญ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินและดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2559

ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้สามัญ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน และดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2559

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 ถึง ข้อ 18 ข้อ 58 (8) และข้อ 79 (3) ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 จึงกำหนดระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้สามัญ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน และดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2559 ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1    ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้สามัญ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน และดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2559”

ข้อ 2    ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3    ให้ยกเลิกระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้สามัญ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน และดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ

ข้อ 4     บรรดาระเบียบ มติ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใด ที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

หมวด 1

บททั่วไป

ข้อ 5    ในระเบียบนี้เงินกู้มี 2 ประเภท  ดังนี้(

(1)    เงินกู้สามัญ

(2)    เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน

ข้อ 6    เงินกู้สามัญและเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน สหกรณ์จะให้กู้ได้เฉพาะแก่สมาชิกเท่านั้น

ข้อ 7    การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น จะให้ได้เฉพาะกรณีเพื่อการใช้จ่ายอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

หมวด 2

เงินกู้สามัญ

ข้อ 8    สหกรณ์อาจให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกเพื่อความมุ่งหมาย  ดังนี้

(1)    เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็น หรือประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิก.

(2)    เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสมาชิก

ข้อ 9    ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้และในข้อบังคับของสหกรณ์

คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ตามข้อ 60 ของข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้แก่สมาชิกแทนคณะกรรมการดำเนินการก็ได้

ข้อ 10  สมาชิกผู้ประสงค์ขอกู้เงินกู้สามัญต้องเสนอคำขอกู้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้

ข้อ 11  สหกรณ์อาจให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกได้ ไม่เกินห้าสิบเท่าของเงินเดือนสมาชิก แต่ไม่เกินหนึ่งล้านสองแสนบาท ส่วนจะให้สมาชิกผู้ใดกู้ได้หรือไม่ หรือจะให้กู้ได้เท่าใด หรือมีเงื่อนไขการให้กู้อย่างใดย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาเห็นสมควร  ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับระยะเวลาเป็นสมาชิกของผู้กู้  ดังนี้

(1)    เป็นสมาชิกเกินหกเดือน แต่ไม่เกินสิบสองเดือน กู้เงินได้ไม่เกินห้าเท่าของเงินเดือน

(2)    เป็นสมาชิกเกินสิบสองเดือน แต่ไม่เกินยี่สิบสี่เดือน กู้เงินได้ไม่เกินสิบเท่าของเงินเดือน

(3)    เป็นสมาชิกเกินยี่สิบสี่เดือน กู้เงินได้ไม่เกินห้าสิบเท่าของเงินเดือน

ข้อ 12  จำนวนเงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสมาชิก ต้องไม่เกินวงเงินค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สถานศึกษากำหนด และไม่เกินสิบแปดเท่าของเงินเดือนสมาชิก แต่ไม่เกินสามแสนบาท โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1)    สมาชิกผู้ยื่นกู้เงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนอื่น หากได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนอื่นเพียงบางส่วน ให้คณะกรรมการดำเนินการสามารถพิจารณาให้กู้เพียงค่าใช้จ่ายในการศึกษาส่วนที่ขาดได้ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร

(2)   ให้จ่ายเงินกู้เมื่อต้นปีการศึกษาเป็นรายปี ตามวงเงินค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สถานศึกษากำหนด

(3)   สหกรณ์จะให้สมาชิกกู้เงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ไม่เกินปีละ 20 ราย  หากปีใดมีผู้ยื่นกู้เงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษามากกว่า 20 ราย ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยคำนึงสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ในขณะนั้น

(4)   สมาชิกผู้ยื่นกู้เงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ต้องส่งคำขอกู้พร้อมหลักฐานแสดงการเป็นนักศึกษา หลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาและค่าใช้จ่ายในการศึกษา

(5)   ผู้ได้รับเงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ต้องส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียนในแต่ละภาคการศึกษาต่อสหกรณ์

(6)   เมื่อผู้กู้เงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จะต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการอาจเรียกให้ชำระคืนเงินกู้ในปีดังกล่าวได้ พร้อมทั้งให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามข้อ 20 (2) ทันที

(7)   เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบ

ข้อ 13  ถ้าคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรจะให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกผู้ใดที่ยังส่งคืนเงินกู้สามัญ หรือเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินไม่เสร็จก็ได้ แต่จำนวนยอดเงินรวมของเงินกู้สามัญและเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินของสมาชิกผู้กู้ผู้นั้น ในเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีจำนวนต้นเงินเกินกว่าจำนวนที่กล่าวในข้อ 11 ไม่ได้

ในการให้เงินกู้สามัญนั้น ถ้าปรากฏว่าสหกรณ์มีเงินทุนที่จะให้กู้ได้ไม่พอแก่การขอกู้อันมีลักษณะพึงให้กู้นั้นทุกราย ให้ถือลำดับในการพิจารณาให้เงินกู้ ดังต่อไปนี้

(1)   เงินกู้ซึ่งไม่เกินกว่ามูลค่าหุ้นที่สมาชิกถืออยู่ในสหกรณ์ พึงให้ในลำดับก่อนเงินกู้ซึ่งมีหลักประกันอย่างอื่น

(2)   ในระหว่างเงินกู้ซึ่งอยู่ในลำดับเดียวกันตามที่กล่าวใน (1) นั้น  เงินกู้ซึ่งมีจำนวนน้อยพึงให้ก่อนเงินกู้ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ จำนวนเงินกู้ที่นำมาเทียบกันนั้น ให้คิดรวมทั้งเงินกู้สามัญและเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินของผู้กู้ที่คงเหลืออยู่ก่อนด้วย (ถ้ามี)

ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นว่ามีเหตุผลพิเศษจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นก็ได้

ข้อ 14  สมาชิกผู้ส่งคืนเงินกู้สามัญสัญญาเดิมยังไม่หมด แต่ชำระเงินกู้สามัญสัญญาเดิมไปแล้วไม่น้อยกว่าสิบแปดงวด สามารถขอกู้เงินกู้สามัญสัญญาใหม่ได้ โดยสมาชิกจะต้องนำเงินกู้สัญญาใหม่ไปใช้หนี้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินกู้สามัญสัญญาเดิม เพื่อเหลือยอดเงินกู้สามัญยอดเดียว เว้นแต่กรณีต่อไปนี้สมาชิกสามารถยื่นคำขอกู้เงินสามัญสัญญาใหม่ได้ เมื่อชำระเงินกู้สามัญสัญญาเดิมไปแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองงวด

(1)    สมาชิกขอกู้เงินกู้สามัญไม่เกินกว่ามูลค่าหุ้นของตนเอง

(2)    กรณีใช้อสังหาริมทรัพย์ปลอดจำนองจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกัน

(3)    กรณีใช้เอกสารการฝากเงินในสหกรณ์เป็นหลักประกัน

(4)    สมาชิกขอกู้เงินกู้สามัญครั้งก่อนไม่ถึงห้าสิบเท่าของเงินเดือนสมาชิก และไม่ถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท

หมวด 3

เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน

ข้อ 15  เมื่อสมาชิกมีเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุอันจำเป็นรีบด่วน อันแสดงหลักฐานพิสูจน์ได้และประสงค์จะขอกู้เงิน ก็ให้ยื่นคำขอกู้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้

ข้อ 16  คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบอำนาจให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการดำเนินการอื่นๆ หรือผู้จัดการตามที่เห็นสมควร เป็นผู้วินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินแทนคณะกรรมการดำเนินการก็ได้ และให้ผู้ได้รับมอบอำนาจดังกล่าวนั้นแถลงรายการเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้ไปและส่งคืนต่อคณะกรรมการดำเนินการเพื่อทราบทุกเดือน

ข้อ 17  เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้ผู้ใด ให้กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนสมาชิกผู้นั้น และไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท

ในกรณีสมาชิกผู้ใดยังมีเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ยังส่งคืนเงินไม่เสร็จ จะให้สมาชิกผู้นั้นกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉินอีกไม่ได้  อนึ่ง สมาชิกคนหนึ่งจะมีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้โดยจำนวนต้นเงินรวมกันทั้งหมดเกินกว่าจำกัดที่กล่าวในข้อ 11 ไม่ได้

หมวด 4

หลักประกันสำหรับเงินกู้

ข้อ 18  การให้เงินกู้ทุกประเภทนั้น ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้ให้ไว้กับสหกรณ์ ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้

ข้อ 19  หลักประกันสำหรับเงินกู้นั้น ให้มีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1)    เงินกู้สามัญ

ถ้าเงินกู้สามัญของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ครั้งเดียวหรือเป็นการกู้หลายครั้ง เมื่อรวมเงินกู้สามัญดังกล่าวของผู้กู้ที่คงเหลืออยู่ (ถ้ามี) มีจำนวนไม่เกินกว่าค่าหุ้นที่ผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้กู้โดยไม่มีหลักประกันก็ได้

ถ้าเงินกู้สามัญของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ครั้งเดียว หรือเป็นการกู้หลายครั้ง เมื่อรวมเงินกู้สามัญดังกล่าวของผู้กู้คงเหลืออยู่ (ถ้ามี) มีจำนวนเกินกว่าค่าหุ้นซึ่งผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์ ก็ต้องมีหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ก.    ผู้ค้ำประกัน

ต้องมีสมาชิกซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรอย่างน้อยหนึ่งคนค้ำประกันเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญในครั้งนั้น  ในส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้  แต่ถ้าผู้กู้มีเงินกู้สามัญที่ยังส่งคืนไม่เสร็จในครั้งก่อนเหลืออยู่ด้วย ก็ต้องให้ค้ำประกันเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญในครั้งใหม่นั้นทั้งหมด

เพื่อความมั่นคงในการให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจวินิจฉัยเรียกให้ผู้กู้มีผู้ค้ำประกันมากกว่าหนึ่งคนได้

สมาชิกผู้ค้ำประกันต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่สหกรณ์ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้

สมาชิกผู้ค้ำประกันต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์และต้องรับราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี

สมาชิกคนหนึ่งจะมีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิก โดยจำนวนต้นเงินรวมกันทั้งหมดเกินกว่าจำกัดที่กล่าวในข้อ 11 ไม่ได้

สมาชิกคนหนึ่งจะเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับผู้กู้เงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิกมากกว่าสามคนในเวลาเดียวกันไม่ได้

สมาชิกคนหนึ่งเมื่อได้ค้ำประกันสำหรับผู้กู้เงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิกจำนวนสามคนแล้ว และหรือมีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิก โดยจำนวนต้นเงินรวมกันทั้งหมดเต็มตามจำกัดในข้อ 11 แล้ว อาจค้ำประกันสำหรับผู้กู้เงินกู้สามัญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสมาชิกอีกคนหนึ่งได้ แต่ไม่เกินอีกสิบแปดเท่าของเงินเดือนสมาชิกและไม่เกินอีกสามแสนบาท

สมาชิกที่มีเงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิกและเงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาของสมาชิก จะมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ทั้งสองอย่างเป็นคนเดียวกันไม่ได้

เมื่อผู้ค้ำประกันคนใดตาย หรือออกจากสหกรณ์โดยเหตุอื่น หรือมีเหตุที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าไม่สมควร หรือไม่อาจที่จะเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป ผู้กู้ต้องจัดให้สมาชิกอื่นซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร เข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทนคนเดิม ให้เสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

การที่สมาชิกผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากการค้ำประกันจนกว่าผู้กู้ได้จัดให้สมาชิกอื่น ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทน

ข.    อสังหาริมทรัพย์

มีอสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่น จำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น โดยต้องเป็นที่พอใจแก่คณะกรรมการดำเนินการว่าจำนวนเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้ต้องอยู่ภายในร้อยละแปดสิบแห่งค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น

ค.    เงินฝากสหกรณ์

มีเอกสารการฝากเงินในสหกรณ์นี้ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรรับจำนำเป็นประกัน โดยจำนวนเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้ไม่เกินกว่ามูลค่าของหลักทรัพย์นั้น

(2)    เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินนอกจากหนังสือกู้ซึ่งผู้กู้ได้ทำให้ไว้ต่อสหกรณ์แล้ว ก็มิต้องมีหลักประกันอย่างอื่นอีก เว้นแต่จะกู้เกินกว่าเงินค่าหุ้นที่มีอยู่ จะต้องมีสมาชิกค้ำประกันโดยให้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่สหกรณ์ ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้ด้วย

หมวด 5

เงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้

ข้อ 20  เงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้นั้น ให้กำหนดไว้ดังนี้

(1)    เงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นของสมาชิก ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณากำหนดให้ผู้กู้ต้องคืนเงินกู้เป็นงวดรายเดือนเท่ากันพร้อมด้วยดอกเบี้ย เป็นจำนวนกี่งวดก็สุดแต่จะเห็นเป็นการสมควรตามฐานะของผู้กู้ จำนวนและความมุ่งหมายแห่งเงินกู้ แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบงวดตั้งแต่เดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก

(2)    เงินกู้สามัญเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของสมาชิกตามข้อ 8 (2) กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยระหว่างการศึกษา ตามกำหนดเวลาตามหลักสูตรการศึกษา และเมื่อครบกำหนดเวลาตามหลักสูตรแล้ว ให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกินเจ็ดสิบสองงวด เว้นแต่กรณี ผู้กู้มีเหตุจำเป็นต้องขยายเวลาศึกษา ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้

(3)    เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินเต็มจำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก หรือให้ส่งเป็นงวดรายเดือนรวมสองงวด โดยงวดแรกให้ส่งต้นเงินไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก ส่วนต้นเงินที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ส่งภายในวันสิ้นเดือนถัดไป

ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ คณะกรรมการดำเนินการอาจกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับสมาชิกผู้ใดนอกเหนือจากที่กำหนดใน (1) (2) และ (3) ก็ได้  ทั้งนี้ เว้นแต่จำนวนงวดการชำระคืนให้เป็นไปตามประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อ 21  การส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภทซึ่งผู้กู้ต้องส่งต่อสหกรณ์นั้น ให้ส่งโดยวิธีหักจากเงินได้รายเดือนของผู้กู้ ณ ที่จ่าย หรือตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ให้ถือว่าเงินงวดชำระหนี้แต่ละงวดถึงกำหนดส่งภายในสิ้นเดือนนั้น ๆ

หมวด 6

ดอกเบี้ยเงินกู้

ข้อ 22  ให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในอัตราไม่เกินประกาศที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยสหกรณ์จะได้ประกาศให้ทราบเป็นคราวๆ ไป

ข้อ 23  ดอกเบี้ยนั้นให้คิดเป็นรายวันตามจำนวนต้นเงินคงเหลือ

หมวด 7

การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้

ข้อ 24  ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจตรา ควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ข้อ 25  การเรียกเงินกู้ตามระเบียบนี้คืนโดยสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ. จำกัด พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

หมวด 8

บทเฉพาะกาล

ข้อ 26  มิให้นำเรื่องระยะเวลาสิบแปดงวดตามระเบียบข้อ 14 มาใช้บังคับแก่สมาชิกที่ได้ทำสัญญากู้เงินสามัญก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และได้ผ่อนชำระเงินงวดมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองงวด ที่จะสามารถยื่นคำขอกู้เงินสามัญตามระเบียบนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม  2559

   ลงชื่อ    นายวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์

(นายวิสูตร   ประสิทธิ์ศิริวงศ์)

ประธานกรรมการ

 สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงาน ก.พ. จำกัด