ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝาก

ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ.จำกัด ว่าด้วยการรับเงินฝาก พ.ศ. 2544

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงาน ก.พ.จำกัด พ.ศ. 2543 ข้อ 12 ข้อ 58 (8) และข้อ 79 (1) คณะกรรมการดำเนินการจึงกำหนดระเบียบ ว่าด้วยการรับเงินฝากซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการรับเงินฝาก พ.ศ. 2544 ”

ข้อ 2.ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ เป็นต้นไป

ข้อ 3.ให้ยกเลิกระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงาน ก.พ. จำกัด ว่าด้วยการรับเงินฝาก พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 4.ในระเบียบนี้ สหกรณ์อาจรับเงินฝากจากสมาชิกแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

(1) เงินฝากออมทรัพย์

(2) เงินฝากประจำ

หมวด 2

เงินฝากออมทรัพย์

ข้อ 5.สหกรณ์รับเงินฝากออมทรัพย์จากสมาชิกตามที่สหกรณ์เห็นสมควร

ข้อ 6.ผู้ประสงค์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ควรมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงาน ของสหกรณ์ด้วยตนเอง และต้องยื่นหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามแบบของสหกรณ์โดยมี รายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในแบบหนังสือขอเปิดบัญชีนั้น ทั้งต้องปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์จะได้ชี้แจงด้วย

ข้อ 7.พร้อมกับหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ผู้ฝากต้องให้ตัวอย่างลายมือชื่อของตนหรือของตัวแทนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงิน ตลอดจนให้คำสั่งเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่เปิดขึ้นนั้นไว้ต่อสหกรณ์ โดยใช้บัตรตามแบบของสหกรณ์

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้นั้น จะมีผลต่อเมื่อผู้ฝากได้แจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์ และสหกรณ์ได้พิจารณาเห็นเป็นการถูกต้องและตอบรับแล้ว

ลายมือชื่อในทุกกรณีเกี่ยวกับเงินฝากออมทรัพย์ ให้ใช้ตัวอักษรไทยและเขียนด้วยหมึกทั้งต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง สหกรณ์จะไม่รับรู้การใช้ตราประทับแทนลายมือชื่อ

ข้อ 8.สมาชิกจะเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กี่บัญชีก็ได้ แต่ในการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ครั้งแรกของแต่ละบัญชีต้องไม่น้อยกว่าห้าร้อยบาท หลังจากนั้นผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อใดโดยจำนวนเท่าใดก็ได้

นอกจากนี้สมาชิกผู้กู้เงินกู้พิเศษอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับจำนวนเงินกู้พิเศษโดยเฉพาะได้อีกบัญชีหนึ่งตามความในระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้พิเศษ และสหกรณ์จะรับฝากเงินเข้าบัญชีเฉพาะจำนวนเงินกู้พิเศษและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินฝากนั้น

ข้อ 9.ในการเปิดบัญชีรับฝากเงินฝากประเภทนี้ สหกรณ์จะออกสมุดคู่บัญชีให้ผู้ฝากยึดถือไว้

สมุดคู่บัญชีนั้น ผู้ฝากต้องรักษาไว้เพื่อให้สหกรณ์ลงบันทึกรายการเงินฝาก ดอกเบี้ย เงินถอนและเงินคงเหลือของตนบรรดาที่จะมีขึ้นทุกราย

การลงบันทึกรายการต่าง ๆ ในสมุดคู่บัญชีนั้น จะกระทำได้แต่เฉพาะทางฝ่ายสหกรณ์โดยเลขานุการ หรือเหรัญญิก หรือผู้จัดการหรือผู้ที่ผู้จัดการมอบหมาย คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อย่อกำกับไว้เป็นสำคัญ การลงบันทึกรายการในสมุดคู่บัญชีโดยไม่เป็นไปตามที่กล่าวนี้ ย่อมไม่มีผลผูกพันสหกรณ์ อนึ่ง ถ้าผู้ฝากตรวจพบว่ารายการใดสมุดคู่บัญชีคลาดเคลื่อน ต้องแจ้งต่อสหกรณ์เพื่อแก้ไขให้ จะแก้ไขโดยประการอื่นไม่ได้

เมื่อสมุดคู่บัญชีได้ลงรายการเต็มแล้ว ให้นำส่งมอบต่อสหรณ์เพื่อสหกรณ์จะได้โอนยอดเงินคงเหลือเข้าสมุดคู่บัญชีเล่มใหม่ ซึ่งจะได้ออกให้ผู้ฝากยึดถือไว้ต่อไป

ในกรณีที่สมุดคู่บัญชีของผู้ฝากคนใดสูญหายหรือชำรุด ผู้ฝากต้องแจ้งเป็นหนังสือหรือหลักฐานต่อสหกรณ์โดยมิชักช้า เพื่อสหกรณ์จะออกสมุดคู่บัญชีเล่มใหม่ให้

ข้อ 10.ในการส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทุกครั้ง ต้องส่งพร้อมกับใบส่งเงินฝากออมทรัพย์ตามแบบสหกรณ์ ทั้งนี้ผู้ฝากหรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งก็ได้ โดยส่งต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานของสหกรณ์

การเขียนใบส่งเงินฝากออมทรัพย์ ให้เขียนด้วยหมึก ลงวันที่ตรงตามวันส่งเงินต่อสหกรณ์และให้ลงลายมือชื่อเต็มของผู้ส่งในบรรทัดที่กำหนดไว้ ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในใบส่ง ผู้ส่งต้องลงลายมือชื่อเต็มกำกับด้วย

เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว จะได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับนั้นในสมุดคู่บัญชี และคืนสมุดคู่บัญชีให้ผู้ฝาก

ข้อ 11.สหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้ ตามยอดเงินฝากคงเหลือต่ำสุดในแต่ละวัน ในอัตราตามประกาศของสหกรณ์ แต่ถ้าวันใดมียอดเงินฝากคงเหลือต่ำกว่าห้าร้อยบาท สหกรณ์จะไม่คิดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้

โดยปกติ สหกรณ์จะนำดอกเบี้ยประจำปีเข้าบัญชีของผู้ฝากในวันที่ 31 ธันวาคม ทุกปีเว้นแต่คณะกรรมการดำเนินการจะกำหนดระยะเวลาและวิธีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นอย่างอื่น ก็ให้นำดอกเบี้ยเข้าบัญชีตามเวลาที่คณะกรรมการกำหนด โดยสหกรณ์จะประกาศให้สมาชิกทราบเป็นคราว ๆ ไป

สหกรณ์ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยซึ่งกล่าวในวรรคก่อนนั้นได้ตามที่เห็นสมควร โดยจะได้กำหนดเป็นระเบียบแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศเป็นคราว ๆ ไป

 ข้อ 12.ในวันหนึ่ง ๆ ผู้ฝากจะถอนเงินฝากออกทรัพย์ในบัญชีของตนได้เพียงครั้งเดียว เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นเป็นพิเศษให้ผู้จัดการหรือผู้ที่ผู้จัดการมอบหมายอนุมัติให้ผู้ฝากถอนเงินฝากออมทรัพย์เกินกว่าหนึ่งครั้งก็ได้

ข้อ 13.ในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ต้องใช้ใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ตามแบบของสหกรณ์

ในการถอนเงินนั้น ผู้มีอำนาจถอนเงินตามที่ได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้ต่อสหกรณ์ควรมารับเงินที่สำนักงานของสหกรณ์ด้วยตนเอง และต้องยื่นใบถอนเงินฝากออมทรัพย์โดยลงลายมือชื่อตามที่ให้ตัวอย่างไว้นั้น พร้อมกับสมุดคู่บัญชีต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว จะได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินที่ถอนนั้นในสมุดคู่บัญชี แล้วจะจ่ายเงินที่ถอนให้

ถ้าผู้มีอำนาจถอนเงินมีความจำเป็นจะมอบให้ผู้ใดรับเงินแทน ก็ต้องทำใบถอนเงินฝากออมทรัพย์และต้องมอบอำนาจให้รับเงินแทนเป็นหนังสือตามที่กำหนดไว้ในใบถอนเงินฝากออมทรัพย์นั้นด้วย ทั้งนี้ โดยลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้ แล้วมอบให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นใบถอนเงินฝากออมทรัพย์นั้น พร้อมด้วยสมุดคู่บัญชีต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานของสหกรณ์ ในการนี้สหกรณ์จะเรียกหลักฐานพิสูจน์ตัวของผู้รับมอบอำนาจก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้วจะได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินที่ถอนนั้นในสมุดคู่บัญชี แล้วจะจ่ายเงินที่ถอนให้

ผู้รับเงินต้องลงลายมือชื่อรับเงินถอนพร้อมทั้งวันที่ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์

อนึ่ง การเขียนใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ให้เขียนด้วยหมึก ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผู้มีอำนาจถอนเงินต้องลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้นั้นกำกับด้วย

ข้อ 14.ผู้ฝากจะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมด เพื่อปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ สหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยให้ถึงก่อนวันที่ถอนและนำเข้าบัญชีของผู้ฝาก เพื่อให้ถอนจำนวนรวมทั้งหมด

การถอนเงินในกรณีดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 13 และให้ผู้มีอำนาจถอนเงินจดแจ้งท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี”

ข้อ 15.ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นว่า ผู้ฝากเงินออมทรัพย์รายใดฝ่าฝืนระเบียบนี้ หรือก่อความยุ่งยากให้แก่สหกรณ์ หรือเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ฝากรายใด สหกรณ์อาจไม่รับเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ฝากรายนั้นอีก หรือจะปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ฝากนั้น พร้อมกับคิดดอกเบี้ยให้ถึงก่อนวันปิดบัญชีหนึ่งวันก็ได้

หมวด 3

เงินฝากประจำ

ข้อ 16.สหกรณ์รับเงินฝากประจำจากสมาชิกตามที่สหกรณ์เห็นสมควร

ข้อ 17.ผู้ประสงค์ฝากเงินฝากประจำ ควรมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานของสหกรณ์ด้วยตนเอง และต้องยื่นหนังสือขอฝากเงินฝากประจำตามแบบของสหกรณ์ โดยมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในแบบหนังสือนั้น ทั้งต้องปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ได้ชี้แจงด้วย

ข้อ 18.ผู้ฝากต้องจัดให้มีตัวอย่างลายมือชื่อของตน หรือของตัวแทนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินไว้ต่อสหกรณ์ โดยใช้บัตรตามแบบของหสกรณ์

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้นั้น จะมีผลต่อเมื่อผู้ฝากได้แจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์ และสหกรณ์ได้พิจารณาเห็นเป็นการถูกต้องและตอบรับแล้ว

ลายมือชื่อในทุกกรณีเกี่ยวกับเงินฝากประจำ ให้ใช้ตัวอักษรไทยและเขียนด้วยหมึกทั้งต้องเขียนด้วยลามมือตนเอง สหกรณ์จะไม่รับรู้การใช้ตราประทับแทนลายมือชื่อ

ข้อ 19.เงินฝากประจำบัญชีหนึ่ง ๆ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยบาท และระยะเวลาฝากต้องไม่น้อยกว่าหกเดือน

ข้อ 20.ในการรับเงินฝากประเภทนี้ สหกรณ์จะออกใบรับเงินฝากประจำอันเป็นตราสารชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ให้ผู้ฝากยึดถือไว้ หรือออกสมุดคู่บัญชีให้ผู้ฝากยึดถือไว้เช่นเดียวกับการฝากออมทรัพย์ก็ได้

ข้อ 21.สหกรณ์จะให้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราตามประกาศของสหกรณ์ที่จะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

ดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายให้เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาฝากหรือตามงวดที่ได้ตกลงกันในเวลาฝาก

อนึ่ง ถ้ายังไม่ถอนเงินฝากประจำจนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวันแล้ว เป็นอันถือว่าผู้ฝาก ก็ตกลงฝากต้นเงินรายนั้นต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม (นับแต่วันต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิม) ทั้งนี้ สหกรณ์จะมีหนังสือยืนยันไปยังผู้ฝากด้วย ส่วนดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะได้จ่ายแก่ผู้ฝากตามที่กล่าวในวรรคก่อนให้เสร็จไป

ข้อ 22.ผู้ฝากย่อมไม่มีสิทธิถอนคืนเงินฝากประจำก่อนถึงกำหนด แต่ถ้าสหกรณ์เห็นสมควรจะยอมให้ถอนก่อนถึงกำหนดก็ได้ ในกรณีดังกล่าวนี้สหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราตามที่ สหกรณ์กำหนด

ข้อ 23.ในการรับคืนเงินฝากประจำ ผู้มีอำนาจถอนเงินตามที่ได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้ต่อสหกรณ์ ควรมารับเงินที่สำนักงานของสหกรณ์ด้วยตนเอง และต้องลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้พร้อมทั้งวันที่ในด้านหลังใบรับเงินฝากประจำต่อเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์เพื่อเวนคืนใบรับเงินฝากประจำแก่สหกรณ์ ทั้งนี้สหกรณ์จะเรียกหลักฐานพิสูจน์ตัวก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว จะจ่ายคืนเงินฝากประจำและดอกเบี้ยที่ผู้ฝากพึงได้รับนั้นให้ ถ้าในการรับคืนเงินฝากประจำ ผู้มีอำนาจถอนเงินมีความจำเป็นที่จะมอบให้ผู้ใดมารับเงินแทนก็ต้องมอบอำนาจเป็นหนังสือตามที่กำหนดไว้ในด้านหลังใบรับเงินฝากประจำ โดยลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้ และมอบให้ผู้รับมอบอำนาจนำใบรับเงินฝากประจำมาเวนคืนแก่สหกรณ์ ผู้รับมอบอำนาจต้องมารับเงินที่สำนักงานของสหกรณ์ด้วยตนเอง และต้องลงลายมือชื่อพร้อมทั้งวันที่ในด้านหลังใบรับเงินฝากประจำซึ่งเวนคืนแก่สหกรณ์นั้นต่อเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์กับต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ตัวให้เป็นที่พอใจด้วย เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว จะจ่ายคืนเงินฝากประจำและดอกเบี้ยที่ผู้ฝากพึงได้รับนั้นให้

ข้อ 24.ผู้ฝากจะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากของตนเมื่อใดก็ได้ ให้ผู้มีอำนาจถอนเงินจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี”

ข้อ 25.ในกรณีที่ใบรับเงินฝากประจำหรือสมุดคู่บัญชีของผู้ฝากใดสูญหายหรือชำรุด ผู้ฝากต้องแจ้งเป็นหนังสือหรือหลักฐานต่อสหกรณ์โดยมิชักช้า เพื่อสหกรณ์จะออกใบรับเงินฝากประจำหรือสมุดคู่บัญชีให้ใหม่แล้วแต่กรณี

ประกาศ ณ วันที่   29   สิงหาคม  2544

   ลงชื่อ    ทิพาวดี เมฆสวรรค์

(คุณหญิงทิพาวดี   เมฆสวรรค์)

ประธานกรรมการ

 สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงาน ก.พ. จำกัด